Categories
News

การป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบ บี

การป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบ บี เพราะไวรัสตับอักเสบบีเป็นโรคติดต่อซึ่งแฝงอยู่ในสังคมของเรา หากชะล่าใจอาจต้องเสียใจที่หลัง เนื่องจากหากติดเชื้อแล้วอาจหายได้ยาก หากพูดถึงโรคติดต่อ หลายคนอาจมองข้ามไวรัสตับอักเสบบี เพราะแม้โรคนี้จะแฝงอยู่ในคนจำนวนมาก แต่ด้วยความที่ไม่ปรากฎอาการ จึงทำให้หลายคนมองข้ามและลืมฉีดวัคซีนทั้ง ๆ ที่เราสามารถป้องกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

รู้จักตับอักเสบเรื้อรังจากไวรัสตับอักเสบบี

ไวรัสตับอักเสบบี เป็นสาเหตุของโรคตับที่สำคัญของประเทศไทย เนื่องจากมีอัตราการติดเชื้อที่สูงประเทศหนึ่งของโลก ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีส่วนหนึ่งจะมีการอักเสบเรื้อรังของตับ มีโอกาสดำเนินโรคเป็นตับแข็งและมะเร็งตับในที่สุด

ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรังมักไม่แสดงอาการ จำเป็นต้องอาศัยการตรวจเลือดเพื่อยืนยันการติดเชื้อและดูการอักเสบของตับ ผู้ป่วยจำนวนมากจะทราบว่าติดเชื้อโดยบังเอิญจากการตรวจร่างกายประจำปีหรือการบริจาคเลือด

เชื้อไวรัสตับอักเสบบี ติดต่อกันอย่างไร

– ติดต่อจากมารดาสู่ทารก มักเกิดการติดเชื้อขณะคลอด พบวิธีนี้ได้บ่อยที่สุด

– ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โดยมีโอกาสติดเชื้อวิธีนี้ง่ายกว่าไวรัสเอชไอวี

– ติดต่อโดยทางเลือด การใช้ของมีคมที่เปื้อนเลือด การใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน การฝังเข็ม การสักตามร่างกาย หรือการเจาะหูที่ไม่สะอาด

ยังไม่มีหลักฐานว่าการรับประทานอาหารร่วมกันหรือการทำงานด้วยกันตามปกติจะทำให้ติดต่อได้

แนวทางการรักษา ไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรัง
การรักษาไวรัสตับอักเสบบีในปัจจุบันสามารถยับยั้งการแบ่งตัวของไวรัสบี ทำให้สามารถลดการอักเสบของตับ ชะลอ หรือยับยั้งการดำเนินโรคไปสู่การเป็นตับแข็ง หรือมะเร็งตับ นอกจากนี้การรักษายังสามารถลดภาวะผังผืดในตับทำให้ภาวะตับแข็งดีขึ้นได้ด้วย

ไวรัสตับอักเสบบี รักษาได้ไหม
ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่าไม่ใช่ผู้ป่วยไวรัสบีเรื้อรังทุกคนต้องการการรักษา จะพิจารณาการรักษาเฉพาะผู้ป่วยที่ยังมีการแบ่งตัวของไวรัสบี ร่วมกับมีการอักเสบของตับ หรือมีโรคตับอยู่ ในบางช่วงของโรคอาจจะตอบสนองต่อการรักษาได้ไม่ดี ดังนั้นแพทย์จะพิจารณารักษาในผู้ป่วยที่มีข้อบ่งชี้

ส่วนการรักษาด้วยยาต้านไวรัส แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาว่าสามารถหยุดยาเมื่อมีข้อบ่งชี้ ตามแนวทางการรักษาปัจจุบัน ในผู้ป่วยบางรายอาจต้องรับประทานยาระยะยาว หรืออาจจะตลอดชีวิต ดังนั้น ผู้ป่วยไม่ควรหยุดยาเอง และเฝ้าติดตามผู้ป่วยที่ยังไม่ต้องการการรักษาเพื่อจะพิจารณารักษาเมื่อมีข้อบ่งชี้และมีการเฝ้าระวังการเกิดมะเร็งตับ